จะเป็นอย่างไงถ้าทุกคนรู้จักพระเยซู

ถ้าทุกคนรู้จักพระเยซู ตำรวจและผู้พิพากษาคงมีงานให้ทำน้อยมาก คนขับรถจะให้ทางกันอย่างเต็มใจ ประตูบ้านจะไม่ต้องล็อก และผู้คนจะรื้อกำแพงสูงรอบบ้านของตน คู่รักจะเลิกทำร้ายกันและลูก ๆ ของพวกเขา ทุกคนจะปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตาและไม่เห็นแก่ตัว ให้อภัยกันได้ง่ายเมื่อมีความเข้าใจผิด ความเห็นอกเห็นใจจะเข้ามาแทนที่ความเพิกเฉย ความโลภและความทะเยอทะยานเห็นแก่ตัวจะถูกแทนที่ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะผู้คนจะดูแลผู้ยากไร้และผู้ที่เปราะบางโดยไม่ลังเล แม้ว่าความท้าทายยังคงมีอยู่ แต่ทุกอย่างจะถูกจัดการด้วยสันติและความเอาใจใส่

วัฒนธรรมความละอาย/เกียรติยศศักดิ์ศรี

02/17/2025

เรื่องราวของ “ต๋อง” และ “อบ” สะท้อนให้เห็นผลกระทบของวัฒนธรรมความละอาย/เกียรติยศในชีวิตผู้คน และบทบาทของชุมชนคริสเตียนในการฟื้นฟูจิตใจและคุณค่าในตนเอง บทความนี้เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อมีคนยอมรับ ฟัง และให้พื้นที่สำหรับการเริ่มต้นใหม่ ผ่านพันธกิจน้ำหนึ่งแก้วที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนและสร้างผู้นำในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

แนะนำ อนุสรณ์ คชเกร็ง

02/17/2025

ผมเกิดมาในครอบครัวที่ไม่เป็นคริสเตียน จนกระทั่งอายุได้ 15 ก็ตัดสินใจเชื่อพระเยซูเพราะสัมผัสถึงความรักของพระเจ้าผ่านทางพี่น้องคริสเตียนในคริสตจักร ผมเองเป็นคนที่จริงจังกับพระเจ้ามาตั้งแต่รับเชื่อใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอ่านพระคัมภีร์ อธิษฐาน และเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ ของคริสตจักร แต่มุมมองของผมในการเป็นคริสเตียนที่ดีได้เริ่มเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อผมได้ตั้งใจกลับไปอ่านพระกิตติคุณอีกครั้ง (หนังสือในพระคัมภีร์ชื่อ มัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์น ที่บอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้) ซึ่งตอนนั้นผมอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 และสิ่งที่ผมเห็นในครั้งนี้ก็คือว่า พระเยซูมักจะใช้เวลาในการช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก เจ็บไข้ได้ป่วย ถูกผีเข้าสิง และแน่นอนพระองค์ทรงใช้เวลากับสาวกเพื่อสร้างพวกเขาให้ทำพันธกิจต่างๆ เหล่านี้ที่พระองค์ได้ทรงเริ่มไว้ พระเจ้าใส่นิมิตในเรื่องของการทำงานด้านการพัฒนาชีวิตและการศึกษากับเยาวชนให้กับผมตั้งแต่ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบผมก็ตัดสินใจเข้าไปเริ่มงานพันธกิจ The Well เพื่อเรียนรู้ที่จะรักและมีความเมตตาต่อผู้หญิงและเด็กที่ถูกทำร้าย จากนั้นในปี 2014 ผมกับภรรยาก็ย้ายไปทำพันธกิจด้านการพัฒนาชุมชนที่ขอนแก่นเป็นเวลาปีครึ่ง จากนั้นก็ย้ายกลับเข้ามากรุงเทพเนื่องจากผมอยากจะเข้าไปลองหาประสบการณ์ในการทำงานโรงเรียนเพื่อที่จะได้เรียนรู้จักระบบการศึกษา ชีวิตของครู และชีวิตของนักเรียนให้มากขึ้น พระเจ้านำผมให้มีโอกาสได้สอนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นเวลาสี่ปี และผมก็อธิษฐานที่จะกลับมาทำงานกับองค์กรคริสเตียน  และพระเจ้าก็นำผมให้มีโอกาสได้เข้าไปสอนนักศึกษาที่สถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ (บีไอที) ในเดือนพฤษภาคม 2020 และปี 2022 ผมได้ทุนจาก Wheaton College โดยตรงเพื่อไปเรียนต่อ ป.โท ในสาขาภาวะผู้นำทางด้านพันธกิจ (Ministry Leadership) และนี่เองที่ผมเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าพระเจ้าจัดเตรียมทางต่างๆ ให้ผมตามนิมิตที่พระเจ้าเคยให้ไว้ ผมกับภรรยาจึงเริ่มบุกเบิกพันธกิจน้ำหนึ่งแก้วที่เน้นในเรื่องของการสร้างสาวกและสร้างผู้นำให้กับชุมชน  ในงานเขียนของผมต่อไปนี้อยากจะเน้นไปที่เรื่องของหัวใจของการทำพันธกิจ

วัฒนธรรมกับเรื่องของข่าวประเสริฐ (Culture and the Gospel)

02/11/2025

เป้าหมายในงานเขียนของผมคือการนำเสนอมุมมองที่กว้างขึ้นในการทำงานด้านพันธกิจหรือมิชชัน โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทย ต้องยอมรับว่าถ้าจะนับกันตามตัวเลขสถิติ จำนวนคริสเตียนในไทย 1 % ยังถือว่าน้อยมาก แน่นอนว่ามันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เป็นแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน มันอาจจะถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่คริสเตียนเองอาจจะมานั่งคิดทบทวนว่าวิธีการที่เราใช้ในการประกาศข่าวประเสริฐมันยังใช้การได้ดีอยู่ไหมในยุคนี้ หรือมีอะไรที่เราต้องปรับปรุงเพื่อทำให้การขยายแผ่นดินของพระเจ้า ที่ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองหรือองค์กรของเราเอง เพื่อสามารถเข้าไปถึงจิตใจและจิตวิญญาณของคนจำนวนได้มากขึ้น ในสัปดาห์นี้ผมเองอยากจะนำเสนอแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างที่ส่งผลต่อรูปแบบในการประกาศข่าวประเสริฐ ซึ่งผมหมายความว่า รูปแบบในการประกาศอาจจะประสบความสำเร็จมากในพื้นที่หนึ่ง แต่พอมาอีกพื้นที่หนึ่งอาจจะได้ผลน้อยหรือน้อยมากเนื่องจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ผมจึงอยากจะนำเสนอรูปแบบ 4 แนวคิดทางด้านวัฒนธรรมหลักๆ ในโลกใบนี้ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนวิถีชีวิตของคนบนโลกนี้ โดยข้อมูลอ้างอิงมาจากหนังสือ “Effective Intercultural Evangelism” (การประกาศแบบพหุวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพ) ของ W. Jay Moon และ W. Bud Simon โดยในจะมี 3 แนวคิดที่ผมจะไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก แต่จะมี 1 แนวคิดที่ผมจะลงรายละเอียดเนื่องจากเป็นแนวคิดที่เกี่ยวของกับบริบทไทยของเรา Guilt/Justice Worldview (แนวคิดความผิด/ความยุติธรรม) แนวคิด Guilt/Worldview มีอิทธิพลอย่างมากในประเทศอเมริกาและทางตะวันตก โดยจะเห็นได้จากการเน้นด้านกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมาย ในด้านศาสนศาสตร์ แนวคิดนี้จะเน้นว่าความบาปได้สร้างความผิดขึ้นมาและทำให้มนุษย์ถูกแยกออกจากพระเจ้า ดังนั้น พระเยซูจึงมาแก้ปัญหาด้วยการสร้างความยุติธรรมหรือคืนสิทธิให้กับมนุษย์เพื่อให้สามารถยืนต่อหน้าพระเจ้าได้ผ่านทางการจ่ายค่าไถ่ของความบาปโดยชีวิตของพระเยซู ให้เราลองนึกถึงภาพของการอยู่ในศาลที่ตัดสินคดี และผู้พิพากษายกโทษทุกอย่างให้กับจำเลย เพราะพระเยซูจ่ายค่าปรับทุกอย่างให้แล้ว เราจะพบแนวคิดนี้อย่างแพร่หลายในโลกตะวันตกที่มีการเน้นในเรื่องของความเป็นปัจเจกบุคคลอย่างสูง