วัฒนธรรมกับเรื่องของข่าวประเสริฐ (Culture and the Gospel)

เป้าหมายในงานเขียนของผมคือการนำเสนอมุมมองที่กว้างขึ้นในการทำงานด้านพันธกิจหรือมิชชัน โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทย ต้องยอมรับว่าถ้าจะนับกันตามตัวเลขสถิติ จำนวนคริสเตียนในไทย 1 % ยังถือว่าน้อยมาก แน่นอนว่ามันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เป็นแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน มันอาจจะถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่คริสเตียนเองอาจจะมานั่งคิดทบทวนว่าวิธีการที่เราใช้ในการประกาศข่าวประเสริฐมันยังใช้การได้ดีอยู่ไหมในยุคนี้ หรือมีอะไรที่เราต้องปรับปรุงเพื่อทำให้การขยายแผ่นดินของพระเจ้า ที่ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองหรือองค์กรของเราเอง เพื่อสามารถเข้าไปถึงจิตใจและจิตวิญญาณของคนจำนวนได้มากขึ้น

ในสัปดาห์นี้ผมเองอยากจะนำเสนอแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างที่ส่งผลต่อรูปแบบในการประกาศข่าวประเสริฐ ซึ่งผมหมายความว่า รูปแบบในการประกาศอาจจะประสบความสำเร็จมากในพื้นที่หนึ่ง แต่พอมาอีกพื้นที่หนึ่งอาจจะได้ผลน้อยหรือน้อยมากเนื่องจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ผมจึงอยากจะนำเสนอรูปแบบ 4 แนวคิดทางด้านวัฒนธรรมหลักๆ ในโลกใบนี้ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนวิถีชีวิตของคนบนโลกนี้ โดยข้อมูลอ้างอิงมาจากหนังสือ “Effective Intercultural Evangelism” (การประกาศแบบพหุวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพ) ของ W. Jay Moon และ W. Bud Simon โดยในจะมี 3 แนวคิดที่ผมจะไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก แต่จะมี 1 แนวคิดที่ผมจะลงรายละเอียดเนื่องจากเป็นแนวคิดที่เกี่ยวของกับบริบทไทยของเรา

Guilt/Justice Worldview (แนวคิดความผิด/ความยุติธรรม)

แนวคิด Guilt/Worldview มีอิทธิพลอย่างมากในประเทศอเมริกาและทางตะวันตก โดยจะเห็นได้จากการเน้นด้านกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมาย ในด้านศาสนศาสตร์ แนวคิดนี้จะเน้นว่าความบาปได้สร้างความผิดขึ้นมาและทำให้มนุษย์ถูกแยกออกจากพระเจ้า ดังนั้น พระเยซูจึงมาแก้ปัญหาด้วยการสร้างความยุติธรรมหรือคืนสิทธิให้กับมนุษย์เพื่อให้สามารถยืนต่อหน้าพระเจ้าได้ผ่านทางการจ่ายค่าไถ่ของความบาปโดยชีวิตของพระเยซู ให้เราลองนึกถึงภาพของการอยู่ในศาลที่ตัดสินคดี และผู้พิพากษายกโทษทุกอย่างให้กับจำเลย เพราะพระเยซูจ่ายค่าปรับทุกอย่างให้แล้ว เราจะพบแนวคิดนี้อย่างแพร่หลายในโลกตะวันตกที่มีการเน้นในเรื่องของความเป็นปัจเจกบุคคลอย่างสูง

Fear/Power (แนวคิดเรื่องความกลัว/ฤทธิ์อำนาจ)

แนวคิด Fear/Power ค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างมากกับกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เช่นในแอฟริกา แคริบเบียน หรือแม้กระทั่งบางพื้นที่ในประเทศไทย โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเชื่อมโยงกับโลกวิญญาณและเรื่องเหนือธรรมชาต โดยความเชื่อของคนกลุ่มนี้อย่างเช่น เรื่องการเจ็บป่วย ทำไมต้องเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม จะทำอย่างไรให้คนนั้นมารักฉัน หรือจะปกป้องตัวเองจากอันตรายอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะมีความเกี่ยวข้องกับวิญญาณหรือเรื่องเหนือธรรมชาต (ไสยศาสตร์) โดยแนวคิดด้านศาสนศาสตร์ของคนกลุ่มนี้จะโยงในเรื่องของความบาปเข้ากับความกลัว (Fear) โดยที่พระเยซู ผู้มีฤทธิ์อำนาจ (Power) จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ดังนั้น พระธรรมโรม 1:16 จึงเป็นพระธรรมที่ค่อนข้างตอบโจทย์แนวคิดของกลุ่มนี้ “ข่าวประเสริฐคือฤทธานุภาพของพระเจ้า เพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด”

Indifference/Belonging with Purpose (ไม่สนใจ/มีส่วนร่วมตามเป้าหมายเฉพาะด้าน)

ในปัจจุบันเราจะพบคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น แนวคิดนี้ได้รับผลมาจากกลุ่มคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลกในด้านเทคโนโลยี ถ้าจะมีเรื่องราวในพระคัมภีร์ที่อธิบายแนวคิดนี้ได้ชัดเจนก็คงเป็นเรื่องของศักเคียสที่เป็นคนไม่สนใจในเรื่องของระบบด้านศาสนาเลย แต่พระเยซูก็พาสาวกไปร่วมทานรับประทานอาหารกับศักเคียสเพื่อให้เขามีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตกับชุมชนนี้ และโดยกระบวนการนี้เอง ศักเคียสได้รับเป้าหมายใหม่ในชีวิตและการทำงาน

ในส่วนของแนวคิดที่ 4 ที่เป็นแนวคิดสุดท้ายคือ Shame/Honor (ความละอาย/เกียรติ ศักดิ์ศรี) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในประเทศแถบเอเชีย รวมไปถึงประเทศไทยด้วย โดยผมจะเขียนอธิบายแนวคิดนี้ในฉบับหน้า และรวมไปถึงว่าทำไมเราต้องหาวิธีการที่เหมาะกับบริบทของวัฒนธรรมนี้