Author: Anusorn

  • วัฒนธรรมความละอาย/เกียรติยศศักดิ์ศรี

    วัฒนธรรมความละอาย/เกียรติยศศักดิ์ศรี

    ต๋อง (นามสมมุต) มาที่คริสตจักรแห่งหนึ่งเพราะภรรยาคะยั้นคะยอให้มา ต๋องซึ่งมีกลิ่นเหล้าติดตัวนั่งอยู่คนเดียวที่เก้าอี้หลังสุด ก้มหน้าก้มตาไม่มองใคร เพราะกลัวสายตาของคนที่มองมาที่เขาว่าเป็นคนติดเหล้าเนื่องจากกลิ่นตัว นอกจากนี้คลามละอายและรู้สึกผิดจากการที่ทะเลาะกับภรรยาบ่อยๆ บางครั้งถึงขั้นลงไม้ลงมือ การบริหารจัดการเงินที่ผิดพลาดเพราะแทนที่จะเก็บเงินไว้ให้ลูกและภรรยาใช้จ่ายในบ้าน เขากลับนำเงินไปดื่มเหล้า นอกจากนี้ความละอายเรื่องความล้มเหลวในการเลี้ยงดูลูก ไม่นับเรื่องใช้ยาเสพย์ติด ยิ่งทำให้ต๋องรู้สึกว่าอยากให้ช่วงเวลา 90 นาทีนี้ผ่านไปไวๆ เพราะเขาจะรู้สึกดีเมื่อไม่มีใครมายุ่งและก็รู้สึกสมควรแล้วที่จะไม่ต้องมีใครมาชอบหรือชื่นชมเขา (และนี่คือสิ่งที่พระธรรมยากอบพูดถึงไว้ด้วยใบบทที่ 2)

    ผู้อ่าน คุ้นๆ กับเหตุการในลักษณะนี้ในคริสตจักรของท่านหรือในกลุ่มใดๆ ก็ตามที่ได้เข้าร่วมไหมครับ นี่คือภาพที่สะท้อนในเรื่องของวัฒนธรรมที่ผู้คนมีแนวคิดเรื่องความละอาย/เกียรติยศ ศักดิ์ศรีได้อย่างชัดเจน นักเขียนหลายๆ ท่านคาดการณ์ว่าในโลกใบนี้มีสังคมที่มีแนวคิดนี้อยู่ถึง 70-80 % และน่าสนใจมากด้วยว่าแนวคิดนี้มีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้นในประเทศแถบตะวันตกด้วย

    ในบริบททางสังคมที่มีการใช้เรื่องศีลธรรมเป็นข้อบังคับทางสังคม เราสามารถเห็นแนวคิดเรื่องความละอาย/เกียรติยศ ศักดิ์ศรีนี้ได้อย่างเด่นชัด โดยที่ความละอายนั้นเป็นการใช้อำนาจควบคุมจากปัจจัยภายนอกโดยกลุ่มคน ในขณะที่ความรู้สึกผิดเป็นหลักการของการปฏิบัติตนจากปัจจัยภายในของคนหรือกลุ่มคน ยกตัวอย่างเช่น เวลามีเด็กหรือวัยรุ่นส่งเสียงดังรำคาญ หรือทำสิ่งที่ผิดเช่น ขโมยของ หรือเตะลูกบอลไปชนกระจกแตก เมื่อเราบอกว่า “ทำแบบนี้ไม่ได้นะครับมันผิด” หรือ “พวกเราไม่ควรทำแบบนี้นะ” กลุ่มเด็กๆ เหล่านี้อาจจะยิ้มและหัวเราะนิดๆ แต่เมื่อเราเปลี่ยนแนวคิดและพูดว่า “เราจะบอกคนแถวนี้ว่าพวกเราเป็นขโมย” หรือบอกว่า “ถ้าคนแถวนี้รู้จะไม่มีใครไว้ใจพวกเราอีกแล้วนะ” เด็กๆ กลุ่มนี้ก็เริ่มสำนึกผิดและขอโทษ และก็เริ่มคืนของที่ขโมยไป ซึ่งถ้าเรามองลึกลงไปเราจะพบว่าคำพูดเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่การกล่าวโทษโดยใช้การกระทำที่ทำให้คนที่ถูกกล่าวโทษถูกลดสถานะทางสังคม ซึ่งนำมาซึ่ง “ความละอาย” ในที่สุด 

    ในฉบับหน้าข้าพเจ้าจะเขียนถึงในเรื่องของผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมนี้ว่าส่งผลต่อคนๆ หนึ่งไปยังชุมชน สังคม รวมไปถึงระดับประเทศอย่างไร แต่ในฉบับนี้ผมขอจบด้วยเรื่องจากสมาชิกใหม่ที่พันธกิจน้ำหนึ่งแก้วที่ได้สะท้อนถึงคนที่เติบโตมาจากวัฒนธรรมนี้ได้อย่างชัดเจน   

    อบ (ผู้ชาย) อายุ 33 ปีเป็นชาวบุรีรัมย์ มาทำงานเป็นช่างไฟฟ้าที่บริษัทแห่งหนึ่ง มาที่กลุ่มนมัสการที่น้ำหนึ่งแก้วกับสมาชิกคนหนึ่งของเราในคืนวันศุกร์ อบจะนั่งเงียบๆ ก้มหน้า ไม่มองหน้าใคร และไม่คุยกับใคร ในช่วงเริ่มกิจกรรมก็มีการให้คนใหม่แนะนำตัวปกติ หลังจากนั้นก็ร้องเพลง แบ่งปันพระคัมภีร์ อธิษฐานเผื่อ หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ได้พูดคุยกับอบเพื่อทำความรู้จักกันมากขึ้น และเพื่อให้เขาคุ้นเคย ในศุกร์ถัดมาอบก็มาที่กลุ่มของเราอีก ในครั้งนี้ผมเองได้เริ่มอธิษฐานและถามพระวิญญาณบริสุทธิ์ขอให้เปิดทางให้เข้าถึงอบมากขึ้นและขอให้พระองค์แตะต้องใจเขาด้วย พอแบ่งปันพระคัมภีร์จบ เราได้ทำการแบ่งกลุ่มอธิษฐาน โดยผมเองและคนในกลุ่มได้อธิษฐานเผื่อเขา โดยแตะไปที่ไหล่ของเขา พออธิษฐานเสร็จข้าพเจ้าก็ถามปกติว่ารู้สึกอย่างไรบ้างวันนี้ อบบอกว่า “ผมรู้สึกดีและอบอุ่นมา” โดยเฉาะตอนที่ข้าพเจ้าแตะไหล่เขาเพราะทำให้เขารู้สึกว่ามีคนใส่ใจ หลังจากเลิกกลุ่มเราก็พูดคุยกันต่อ และศุกร์ต่อมาอบก็รับเชื่อพระเจ้า พร้อมกับมีเป้าหมายในชีวิตในเรื่องของการเรียนต่อ และก็เป็นหน้าที่ของเราในการที่จะช่วยเขาค้นหาเป้าหมายว่าจะเรียนที่ไหน อย่างไร จึงจะเหมาะกับเขา และนี่คือวัตถุประสงค์ที่พันธกิจน้ำหนึ่งแก้วก่อตั้งมา เพื่อพัฒนาสร้างคน และสร้างผู้นำให้กับชุมชน

  • แนะนำ อนุสรณ์ คชเกร็ง

    ผมเกิดมาในครอบครัวที่ไม่เป็นคริสเตียน จนกระทั่งอายุได้ 15 ก็ตัดสินใจเชื่อพระเยซูเพราะสัมผัสถึงความรักของพระเจ้าผ่านทางพี่น้องคริสเตียนในคริสตจักร ผมเองเป็นคนที่จริงจังกับพระเจ้ามาตั้งแต่รับเชื่อใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอ่านพระคัมภีร์ อธิษฐาน และเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ ของคริสตจักร แต่มุมมองของผมในการเป็นคริสเตียนที่ดีได้เริ่มเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อผมได้ตั้งใจกลับไปอ่านพระกิตติคุณอีกครั้ง (หนังสือในพระคัมภีร์ชื่อ มัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์น ที่บอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้) ซึ่งตอนนั้นผมอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 และสิ่งที่ผมเห็นในครั้งนี้ก็คือว่า พระเยซูมักจะใช้เวลาในการช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก เจ็บไข้ได้ป่วย ถูกผีเข้าสิง และแน่นอนพระองค์ทรงใช้เวลากับสาวกเพื่อสร้างพวกเขาให้ทำพันธกิจต่างๆ เหล่านี้ที่พระองค์ได้ทรงเริ่มไว้

    พระเจ้าใส่นิมิตในเรื่องของการทำงานด้านการพัฒนาชีวิตและการศึกษากับเยาวชนให้กับผมตั้งแต่ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบผมก็ตัดสินใจเข้าไปเริ่มงานพันธกิจ The Well เพื่อเรียนรู้ที่จะรักและมีความเมตตาต่อผู้หญิงและเด็กที่ถูกทำร้าย จากนั้นในปี 2014 ผมกับภรรยาก็ย้ายไปทำพันธกิจด้านการพัฒนาชุมชนที่ขอนแก่นเป็นเวลาปีครึ่ง จากนั้นก็ย้ายกลับเข้ามากรุงเทพเนื่องจากผมอยากจะเข้าไปลองหาประสบการณ์ในการทำงานโรงเรียนเพื่อที่จะได้เรียนรู้จักระบบการศึกษา ชีวิตของครู และชีวิตของนักเรียนให้มากขึ้น พระเจ้านำผมให้มีโอกาสได้สอนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นเวลาสี่ปี และผมก็อธิษฐานที่จะกลับมาทำงานกับองค์กรคริสเตียน 

    และพระเจ้าก็นำผมให้มีโอกาสได้เข้าไปสอนนักศึกษาที่สถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ (บีไอที) ในเดือนพฤษภาคม 2020 และปี 2022 ผมได้ทุนจาก Wheaton College โดยตรงเพื่อไปเรียนต่อ ป.โท ในสาขาภาวะผู้นำทางด้านพันธกิจ (Ministry Leadership) และนี่เองที่ผมเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าพระเจ้าจัดเตรียมทางต่างๆ ให้ผมตามนิมิตที่พระเจ้าเคยให้ไว้ ผมกับภรรยาจึงเริ่มบุกเบิกพันธกิจน้ำหนึ่งแก้วที่เน้นในเรื่องของการสร้างสาวกและสร้างผู้นำให้กับชุมชน 

    ในงานเขียนของผมต่อไปนี้อยากจะเน้นไปที่เรื่องของหัวใจของการทำพันธกิจ โดยเฉาะในแบบบริบทไทยที่มีความซับซ้อนและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก เราจะเห็นว่าการที่เราประกาศเรื่องของพระเจ้าตรงๆ บางครั้งเราจะเห็นปฏิกิริยาการต่อต้าน ดังนั้น ผมเองอยากจะนำเสนอให้ผู้อ่านเองได้เห็นมุมมองว่าเหตุใดคนที่ทำพันธกิจในประเทศไทยจึงต้องเข้าใจบริบทสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง เพราะเรื่องนี้มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะทำให้การทำพันธกิจในไทยนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น   

  • วัฒนธรรมกับเรื่องของข่าวประเสริฐ (Culture and the Gospel)

    เป้าหมายในงานเขียนของผมคือการนำเสนอมุมมองที่กว้างขึ้นในการทำงานด้านพันธกิจหรือมิชชัน โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทย ต้องยอมรับว่าถ้าจะนับกันตามตัวเลขสถิติ จำนวนคริสเตียนในไทย 1 % ยังถือว่าน้อยมาก แน่นอนว่ามันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เป็นแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน มันอาจจะถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่คริสเตียนเองอาจจะมานั่งคิดทบทวนว่าวิธีการที่เราใช้ในการประกาศข่าวประเสริฐมันยังใช้การได้ดีอยู่ไหมในยุคนี้ หรือมีอะไรที่เราต้องปรับปรุงเพื่อทำให้การขยายแผ่นดินของพระเจ้า ที่ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองหรือองค์กรของเราเอง เพื่อสามารถเข้าไปถึงจิตใจและจิตวิญญาณของคนจำนวนได้มากขึ้น

    ในสัปดาห์นี้ผมเองอยากจะนำเสนอแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างที่ส่งผลต่อรูปแบบในการประกาศข่าวประเสริฐ ซึ่งผมหมายความว่า รูปแบบในการประกาศอาจจะประสบความสำเร็จมากในพื้นที่หนึ่ง แต่พอมาอีกพื้นที่หนึ่งอาจจะได้ผลน้อยหรือน้อยมากเนื่องจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ผมจึงอยากจะนำเสนอรูปแบบ 4 แนวคิดทางด้านวัฒนธรรมหลักๆ ในโลกใบนี้ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนวิถีชีวิตของคนบนโลกนี้ โดยข้อมูลอ้างอิงมาจากหนังสือ “Effective Intercultural Evangelism” (การประกาศแบบพหุวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพ) ของ W. Jay Moon และ W. Bud Simon โดยในจะมี 3 แนวคิดที่ผมจะไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก แต่จะมี 1 แนวคิดที่ผมจะลงรายละเอียดเนื่องจากเป็นแนวคิดที่เกี่ยวของกับบริบทไทยของเรา

    Guilt/Justice Worldview (แนวคิดความผิด/ความยุติธรรม)

    แนวคิด Guilt/Worldview มีอิทธิพลอย่างมากในประเทศอเมริกาและทางตะวันตก โดยจะเห็นได้จากการเน้นด้านกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมาย ในด้านศาสนศาสตร์ แนวคิดนี้จะเน้นว่าความบาปได้สร้างความผิดขึ้นมาและทำให้มนุษย์ถูกแยกออกจากพระเจ้า ดังนั้น พระเยซูจึงมาแก้ปัญหาด้วยการสร้างความยุติธรรมหรือคืนสิทธิให้กับมนุษย์เพื่อให้สามารถยืนต่อหน้าพระเจ้าได้ผ่านทางการจ่ายค่าไถ่ของความบาปโดยชีวิตของพระเยซู ให้เราลองนึกถึงภาพของการอยู่ในศาลที่ตัดสินคดี และผู้พิพากษายกโทษทุกอย่างให้กับจำเลย เพราะพระเยซูจ่ายค่าปรับทุกอย่างให้แล้ว เราจะพบแนวคิดนี้อย่างแพร่หลายในโลกตะวันตกที่มีการเน้นในเรื่องของความเป็นปัจเจกบุคคลอย่างสูง

    Fear/Power (แนวคิดเรื่องความกลัว/ฤทธิ์อำนาจ)

    แนวคิด Fear/Power ค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างมากกับกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เช่นในแอฟริกา แคริบเบียน หรือแม้กระทั่งบางพื้นที่ในประเทศไทย โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเชื่อมโยงกับโลกวิญญาณและเรื่องเหนือธรรมชาต โดยความเชื่อของคนกลุ่มนี้อย่างเช่น เรื่องการเจ็บป่วย ทำไมต้องเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม จะทำอย่างไรให้คนนั้นมารักฉัน หรือจะปกป้องตัวเองจากอันตรายอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะมีความเกี่ยวข้องกับวิญญาณหรือเรื่องเหนือธรรมชาต (ไสยศาสตร์) โดยแนวคิดด้านศาสนศาสตร์ของคนกลุ่มนี้จะโยงในเรื่องของความบาปเข้ากับความกลัว (Fear) โดยที่พระเยซู ผู้มีฤทธิ์อำนาจ (Power) จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ดังนั้น พระธรรมโรม 1:16 จึงเป็นพระธรรมที่ค่อนข้างตอบโจทย์แนวคิดของกลุ่มนี้ “ข่าวประเสริฐคือฤทธานุภาพของพระเจ้า เพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด”

    Indifference/Belonging with Purpose (ไม่สนใจ/มีส่วนร่วมตามเป้าหมายเฉพาะด้าน)

    ในปัจจุบันเราจะพบคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น แนวคิดนี้ได้รับผลมาจากกลุ่มคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลกในด้านเทคโนโลยี ถ้าจะมีเรื่องราวในพระคัมภีร์ที่อธิบายแนวคิดนี้ได้ชัดเจนก็คงเป็นเรื่องของศักเคียสที่เป็นคนไม่สนใจในเรื่องของระบบด้านศาสนาเลย แต่พระเยซูก็พาสาวกไปร่วมทานรับประทานอาหารกับศักเคียสเพื่อให้เขามีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตกับชุมชนนี้ และโดยกระบวนการนี้เอง ศักเคียสได้รับเป้าหมายใหม่ในชีวิตและการทำงาน

    ในส่วนของแนวคิดที่ 4 ที่เป็นแนวคิดสุดท้ายคือ Shame/Honor (ความละอาย/เกียรติ ศักดิ์ศรี) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในประเทศแถบเอเชีย รวมไปถึงประเทศไทยด้วย โดยผมจะเขียนอธิบายแนวคิดนี้ในฉบับหน้า และรวมไปถึงว่าทำไมเราต้องหาวิธีการที่เหมาะกับบริบทของวัฒนธรรมนี้